ขุนเขาแห่งการท่องเที่ยว...ภูกระดึง
เมื่อเอ่ยถึงภูเขา สิ่งที่ไปกันได้ดีก็คือเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะบนภูเขามีสิ่งดึงดูดความสนใจให้ขึ้นไปเที่ยวชมมากมาย อย่างพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ป่าใหญ่ๆ ดอกไม้ป่างามๆ น้ำตกบึ้มๆ หน้าผาและจุดชมวิวสวยๆ ไม่เพียงเท่านั้นอุณหภูมิบนภูเขาทั้งกลางวันกลางคืนก็หนาวเย็น สร้างบรรยากาศโรแมนติก ชวนให้เบียดกายใกล้ชิดสนิดแนบ เหมาะแก่การพาคู่รักหรือเพื่อนร่วมใจไปสนุกสนานเปลี่ยนบรรยากาศ ภูเขาจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตติดอันดับของผู้คนทั่วโลก
แนวทิวเขาของอีสานประกอบไปด้วยแนวทิวขาเพชรบูรณ์และแนวทิวเขาดงพญาเย็น ที่เป็นเสมือนสันกั้นพรมแดนระหว่างภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน จากที่ราบลุ่มภาคกลางจะขึ้นสู่ที่ราบสูงอีสานก็ต้องทะลุแนวภูเขานี้ขึ้นไปทั้งสิ้น ต่ำลงมาประชิดกับภาคตะวันออกชายฝั่งทะเล คือเทือกเขาสันกำแพง ที่ด้านหนึ่งเป็นจังหวัดปราจีนบุรีและสระแก้ว กับอีกด้านหนึ่งก็คือพื้นที่อำเภอโนนสูง เสิงสาง และครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ทิวเขานี้ยังเชื่อมโยงต่อไปถึงพนมดงรัก ซึ่งเป็นแนวกั้นอีสานกับดินแดนกัมพูชาและ สปป. ลาว และทั้งหมดนี้ก็คือ แนวภูเขาที่กั้นอีสานออกเป็นเอกเทศ แทบจะเป็นที่ราบกลมๆ บนที่สูง จากอีสานจะลงมาภาคกลางหรือไปภาคเหนือ อย่างไรเสียก็ต้องเจอภูเขา จะไปตามทางราบๆ ตลอดไม่ได้
นอกจากนี้ อีสานยังมีแนวเทือกเขาภูพานที่เป็นเส้นตัดขวางแบ่งกั้นให้เกิดเป็นอีสานเหนือ คือ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม และเลย และอีสานใต้ที่มีอยู่อีกมากมายหลายจังหวัด ทั้งหมดเสมือนถูกตัดแยกออกจากกันอย่างเด่าชัดด้วยเทือกเขาภูพานแห่งนี้
และในบรรดาเทือกภูเขาสูงอีสานหลากหลายนี้ เทือกเขาเพชรบูรณ์ดูจะเป็นเทือกเขาที่มีพื้นที่กว้างขวางที่สุด ก่อให้เกิดภูเขาย่อยๆ ที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีความหลากหลายของสรรพชีวิตสวยงามมากมายหลายแห่ง และหากจะกล่าวกันถึงเรื่องท่องเที่ยวแล้ว ก็เชื่อแน่ว่าไม่มีใครปฏิเสธ หากจะยกตำแหน่งสุดยอดภูเขาท่องเที่ยวให้กับภูกระดึง แห่งเทือกเขาเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย
ภูกระดึง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเก่าแก่ที่ไม่เคยเสื่อมคลายมนตร์ขลัง เพราะที่นี่มีทุกๆ อย่างที่นักท่องเที่ยวต้องการ จุดเด่นของภูกระดึงคือความสวยงามของภูเขา สายหมอกหน้าผา พรรณไม้ และสัตว์ป่า กล่าวกันว่า ถ้านักท่องเที่ยวจะเริ่มต้นออกเดินทางท่องธรรมชาติ ภูกระดึงจะเป็นเสมือนโรงเรียนประถมต้นของการท่องเที่ยวภูเขากันเลยที่เดียว
ตามตำนานภูกระดึงนั้น มีเรื่องเล่าว่า มีพรานผู้หนึ่งตามล่ากระทิงโทน ขึ้นไปจนถึงบนยอดเขาลูกหนึ่งในเขตตำบลศรีฐาน ได้พบพื้นที่บนยอดเขาราบเรียบและกว้างใหญ่มากเป็นทุ่งหญ้าสลับกับป่าสน มีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างเรียงรายเป็นระเบียบ และยังเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด เช่น ช้างป่า ฝูงกระทิง เก้ง กวาง ซึ่งหากินอยู่เป็นฝูง ๆ ไม่ตระหนกตื่นกลัวนายพราน เนื่องจากไม่เคยเห็นคนมาก่อน นับจากนั้นมา ภูกระดึงก็เริ่มเปิดตัวเองสู่สายตาชาวโลก
ภูกระดึงซึ่งธรรมชาติได้ปิดซ่อนเร้นมานานก็ถูกเปิดเผยให้มนุษย์รู้จักแต่นั้นมาจากการเล่าลือกันมาแต่โบราณว่า มีผู้ได้ยินเสียงระฆังของพระอินทร์ที่อยู่บนเขานี้ดังนั้นจึงให้ชื่อว่า ภูกระดึง หรือ ภูกะดึง เพราะคำว่า “ภู” หมายถึง ภูเขา และ “กระดึง” มาจาก “กระดิ่ง” ภาษาพื้นเมืองจังหวัดเลยแปลว่า “ระฆังใหญ่”นอกจากนี้เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาบางส่วนหากเดินหนักๆ หรือใช้ไม้กระทุ้งก็จะมีเสียงก้องคล้ายระฆัง ซึ่งเกิดจากโพรงข้างใต้ จึงได้รับขนานนามว่า “ภูกระดึง”
ภูกระดึง เป็นที่รู้จักกันมานาน ตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 สมุหเทศาภิบาล (พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม)ได้ทำรายงานสภาพภูมิศาสตร์เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย และต่อมาในปี พ.ศ.2463 นายอำเภอวังสะพุง ซึ่งปกครองท้องที่เขตภูกระดึงในขณะนั้นได้ขึ้นไป สร้างพระพุทธรูปไว้บนยอดภูกระดึงองค์หนึ่ง ในปี พ.ศ. 2486 ทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าภูกระดึงให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติและกรมป่าไม้ เริ่มดำเนินการสำรวจ เพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นที่ภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นแห่งแรก แต่เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณและเจ้าหน้าที่จึงให้ดำเนินการไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
มารู้จักกับอุทยานแห่งชาติ ภูกระดึง
ภูกระดึง นับเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 2 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นภูเขาหินทรายยอดตัด เป็นที่ราบขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร มีความสูง 400-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพทั่วไปของภูกระดึง ประกอบไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด พันธุ์สัตว์ป่านานาพันธุ์ หน้าผา ทุ่งหญ้า ลำธาร และน้ำตก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำพอง ซึ่งเป็นลำน้ำสายสำคัญสายหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยความสูง บรรยากาศ และสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดปี บนยอดภูกระดึง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิอาจลดต่ำจนถึง 0 องศาเซลเซียส จึงเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยว ปรารถนาและหวังจะเป็นผู้พิชิตยอดภูกระดึง สักครั้งหนึ่งในชีวิต
เวลาเปิด-ปิด ภูกระดึง
สำหรับการเดินทางขึ้นภูกระดึงนั้น ทางอุทยานฯ จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นได้ตั้งแต่เวลา 07.00 – 14.00 น. ของทุกวัน และหลังจากเวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ทางอุทยานฯ จะไม่อนุญาต เพราะระยะทางในการเดินทางขึ้นเขาต้องใช้เวลาในการเดินเท้า ประมาณ 4-5 ชั่วโมง ซึ่งจะตรงกับเวลาพลบค่ำในระหว่างทาง ดังนั้น อาจจะทำให้เกิดความยากลำบาก อีกทั้งอาจได้รับอันตรายจากสัตว์ป่าที่ออกหากินในเวลากลางคืนอีกด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น